JR RAIL PASS
04-06-2015

 

 

วิธีการใช้บัตร JR RAILPASS เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น

1. หลังจากที่ได้ซื้อบัตร JR Rail Passแล้ว ลูกค้าจะได้รับ ExchangeVoucherสำหรับใช้ทำการเปลี่ยนเป็นบัตร JR Rail Pass (บัตรแข็ง) เมื่อเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่น

Photobucket

ตัวอย่าง Exchange Voucher ที่ได้รับเมื่อซื้อ JR Rail Pass

2. เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรณีที่ต้องการเปิดใช้บัตร JR Rail Passทันที สามารถดำเนินการได้ทันทีที่สำนักงานของ JRซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในสนามบินนานาชาติทั้งที่นาริตะ (เทอร์มิล 1 และ 2) ฮาเนดะ คันไซ และชินชิโตเสะตามรายละเอียดด้านล่างนี้

สนามบินนาริตะ (เทอร์มินัล 1) TravelService Center เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 08.15-19.00
Ticket Office เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 06.30-8.15 และ 19.00-21.45
สนามบินนาริตะ (เทอร์มินัล 2) TravelService Center เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 10.30-20.00
Ticket Office เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 06.30-10.30 และ 20.00-21.45
สนามบินฮาเนดะ TravelService Center (Tokyo Monorail 2F Ticket Gate/Arrival Lobby) เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 11.00-18.30
สนามบินคันไซ Ticket Office เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 05.30-23.00
สนามบินชินชิโตเสะ JR Visitors Information Desk เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-19.00





กรณีที่ต้องการเปิดใช้บัตรที่สถานีรถไฟ JR สามารถเปิดใช้บริการได้ตามรายละเอียดในตารางด้านล่างนี้

3. จากนั้น ให้นำ Exchange Voucherพร้อมหนังสือเดินทาง ยื่นให้เจ้าหน้าที่ ในบางเอเยนต์จะมีเอกสารให้กรอกใบแลก Exchange Voucher เป็นบัตร JR Rail Pass (เรียกว่า “Application for Japan Rail Pass Exchange)ใส่มาด้วยในซอง ก็ให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ-สกุล สัญชาติ เลขที่หนังสือเดินทาง วันแรกที่ใช้งาน (สรุปให้แน่นอนเปลี่ยนใจทีหลังไม่ได้) ที่อยู่ติดต่อในญี่ปุ่น (ไม่จำเป็นต้องมีเบอ์โทรศัพท์มือถือ ให้เบอร์โรงแรมที่พักคืนแรกไว้ก็ได้) แต่ถ้าไม่มีเอกสารนี้ใส่มาให้ด้วยก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเดี๋ยวเจ้าหน้าที่เค้ามาให้กรอกเอง (ดูตัวอย่างและวิธีการกรอกด้านล่าง) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะไปจัดการออกบัตร JR Rail Pass (บัตรแข็ง) ให้ตามตัวอย่างด้านล่าง

Photobucket
ตัวอย่างเอกสาร Application for Japan Rail Pass Exchange

4. เมื่อได้รับบัตร JR Rail Pass (บัตรแข็ง) แล้ว ให้ตรวจสอบชื่อ-สกุลพร้อมวันที่เริ่มใช้และวันที่สิ้นสุดการใช้งานว่าถูก ต้องหรือไม่ พร้อมรับหนังสือเดินทางคืนจากเจ้าหน้าที่



ตัวอย่าง Japan Rail Pass(บัตรแข็ง)



การใช้ Japan Rail Pass(บัตรแข็ง) กรณีเดินทางด้วยรถไฟสาย JR
ในเมื่อเราได้บัตร Japan Rail Passที่เป็นบัตรแข็งตามภาพประกอบด้านบนมาแล้ว หลังจากนั้นก็สามารถใช้ในการเดินทางตามระยะเวลาที่กำหนดได้ทันที สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟสาย JRนั้น ไม่ต้องมัวทำงงอยู่ตรงหน้าประตูสอดบัตรนะครับ เพราะไม่มีตรงไหนให้สอดบัตร Japan Rail Passได้หรอก (เราก็เคยเป็นมาก่อน ไม่แปลก ๆ) แล้วจะผ่านประตูสอดบัตรยังไง วิธีง่าย ๆ ก็คือ ให้เดินไปตรงช่องซ้ายมือสุดที่มีเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ JRยืนอยู่ แล้วก็โชว์บัตร Japan Rail Pass(หลายคนเรียกเจ้าบัตรนี้ว่า “บัตรเบ่ง”) นี้ให้เจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเรียกตรวจอะไรมากมาย จะโบกมือปล่อยให้เราเข้าไปเลย แต่อย่าแอบขี้โกงล่ะกันนะ

การใช้ Japan Rail Pass(บัตรแข็ง) กรณีเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็น
แบ่งการใช้งานออกเป็น 2 แบบ คือ

1. แบบไม่จองที่นั่ง (Non-Reserved)คือ การเข้าใช้บริการรถไฟชินคันเซ็นโดยยื่นบัตร Japan Rail Passให้เจ้าหน้าที่สถานีและสามารถเข้าสู่ชานชาลาของรถไฟชินคันเซ็นในขบวนที่ ต้องการเดินทาง โดยจะต้องนั่งในตู้ที่ระบุไว้ว่าเป็น NON RESERVEDเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วหากเป็นขบวนที่ผู้โดยสารไม่มากหรือไม่ได้ขึ้นรถไฟชินคัน เซ็นในชั่วโมงเร่งด่วนก็สามารถนั่งในตู้ที่เป็น Reserved ได้เช่นกัน แต่ถ้ามีผู้โดยสารที่มีตั๋วรถไฟชินคันเซ็นซึ่งระบุที่นั่งก็ต้องลุกไปนั่ง ที่อื่นแทน และถ้ามีพนักงานเดินตั๋วมาตรวจตั๋วโดยสาร ก็ให้ยื่นบัตร JR Rail Pass ให้ไม่ต้องกลัวนะครับ บอกแล้วไงว่าเขาเป็นบัตรเบ่ง

2. แบบจองที่นั่ง (Reserved) มีลักษณะคล้ายกับแบบไม่จองที่นั่ง แต่แบบนี้จะมั่นใจได้มากกว่าว่าเรามีที่นั่งในขบวนนี้แน่นอน และสามารถเลือกที่นั่งได้ว่าจะเป็นแบบริมทางเดินหรือริมหน้าต่างได้ด้วย แถมยังมั่นใจเรื่องเส้นทางได้อีกด้วยว่ายังไงไม่หลงแน่นอนเพราะว่าเจ้า หน้าที่ JRจะช่วยแนะนำการเดินทางให้อีกด้วย เพราะในบางครั้งอาจต้องมีการเปลี่ยนขบวนรถ จะไปถึงไม่ถึงก็ตรงนี้แหล่ะ ในกรณีที่เราจองที่นั่งก็จะได้ตั๋วที่ระบุต้นทางและปลายทางรวมทั้งเวลาขึ้น รถและเวลาถึงที่หมายปลายทาง ตลอดจนระบุหมายเลขที่นั่ง ตู้รถไฟ ตั๋วรถไฟสำหรับใช้ในการเปลี่ยนขบวนด้วย สำหรับการจองที่นั่งรถไฟชินคันเซ็นทุกขบวน ส่วนการจองที่นั่งสามารถติดต่อได้ที่สำนักงาน ซึ่งอยู่ภายในสถานีรถไฟสาย JR ที่มีเครื่องหมาย  ได้ทุกแห่ง และไม่ต้องกลัวว่าจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะพอพูดภาษาอังกฤษได้

Photobucket

สำนักงาน JRภายในสถานีรถไฟที่สามารถจองตั๋วรถไฟด้วยบัตร JR Rail Passได้

โดย ปกติแล้ว นอกเหนือจากการจองตั๋วรถไฟชินคันเซ็นที่สำนักงานของ JR แล้ว เรายังมีทางเลือกที่สามารถจองตั๋วผ่านเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติและผ่านทางเวบ ไซต์ (เฉพาะ JR East เท่านั้น) ได้อีกด้วย แต่ขอไม่แนะนำให้ซื้อกับเครื่องนะครับเพราะว่าถ้าไม่เข้าใจเส้นทางมากพอ ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะซื้อตั๋วได้ คุยกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน JRน่าจะง่ายกว่า

ขอแนะนำเวบไซต์ 2 เวบหลักที่ใช้ในการค้นหาเส้นทางการให้บริการทั้งสาย JRและรถไฟชินคันเซ็นในทุกขบวนไว้ทดลองใช้กัน ปกติแล้วจะมีหนังสือเป็นตารางเวลาการให้บริการอย่างละเอียดแยกตามแต่ละสายทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถค้นหาเส้นทาง ระยะเวลาในการเดินทางและขบวนชินกันเซ็นที่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายขึ้น 


www.hyperdia.com/enเป็นเวบไซต์ยอดนิยมสำหรับการหาข้อมูลการเดินทางด้วยรถไฟสาย JRและรถไฟชินคันเซ็นทั่วทุกเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น พร้อมบอกวิธีการเปลี่ยนต่อรถและค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน แต่สำหรับบัตรเบ่ง JR Rail Passอย่างเราไม่ต้องมองเรื่องราคาก็ได้












www.jorudan.co.jp/englishเป็นอีกเวบไซต์ที่ขอแนะนำ ถึงหน้าตาจะไม่ได้สวยงามอย่าง Hyperdiaแต่ความสามารถในการค้นหาเส้นทางรวมทั้งราคาก็ไม่น้อยหน้ากัน และยังเพิ่มการค้นหาการเดินทางด้วยรถไฟสายเอกชน


















หลังจากที่เราได้ตั๋วรถไฟชินคันเซ็นมาอยู่ในมือเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจองตั๋วรถไฟชินคันเซ็นสามารถจองล่วงหน้าก่อนการเดินทางได้ ไม่จำเป็นต้องไปจองในวันที่เดินทางเนื่องจากในบางครั้งจะเสียเวลามากและที่นั่งค่อนข้างเต็ม จองขบวนในเวลาที่ต้องการเดินทางยากเช่นในช่วงที่เป็นวันหยุดยาวอย่าง โกลเด้นวีค (ตั้งแต่ประมาณวันที่ 28 เมษายน –6 พฤษภาคม) เป็นต้น

คราวนี้เรามาดูรายละเอียดบนตั๋วรถไฟชินคันเซ็นกันก่อน รับตั๋วมาแล้วจะได้ไม่งงว่ามันเขียนอะไรไว้บ้าง บอกเพิ่มเติมอีกนิดว่าถ้าได้ตั๋วมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือไปขึ้นรถไฟชินคันเซ็นไม่ทัน ไม่ต้องกังวล ให้ถือตั๋วไปที่สำนักงาน JRเพื่อขอยกเลิกตั๋วแล้วให้เจ้าหน้าที่ออกตั๋วใหม่ได้เลย (กรณีนี้ใช้ได้สำหรับบัตรเบ่ง JR Rail Passเท่านั้นนะ เพราะถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช้บัตรเบ่งแล้วล่ะก็ คงหมดเงินไปชอปปิ้งแน่ ๆ)

Photobucket

 

* กรณีที่ใช้ JR Rail Passแลกเป็นตั๋วรถไฟชินคันเซ็นประเภทระบุที่นั่ง (Reserved)จะไม่ปรากฏราคา ยกเว้นกรณีที่มีการอัปเกรดขบวนรถไฟ เช่นเปลี่ยนจากนั่งขบวน Hikariเป็น Nozomiหรือเป็นขบวนรถไฟตู้นอนจึงจะมีราคาปรากฏที่หน้าตั๋ว
เมื่อรู้รายละเอียดในตั๋วรถไฟชินคันเซ็นแล้ว ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่จะนำคุณไปสู่ชานชาลาเพื่อขึ้นรถไฟชินคันเซ็น
1. เดินผ่านประตูโดยแสดงตั๋วชินคันเซ็นหรือแสดงตั๋วรถไฟชินคันเซ็น หรือแสดงบัตร JR Rail Passต่อเจ้าหน้าที่ (กรณีที่มีบัตรสำหรับขึ้นรถไฟชินคันเซ็นยังไม่ต้องสอดบัตรและกรุณาสังเกตดูหมายเลขชานชาลาที่ขบวนรถไฟชินคันเซ็นที่เราเดินทางบนบอร์ดอิเล็กทรอนิคส์ที่อยู่เหนือทางผ่านประตู ถ้าไม่แน่ใจให้ถามเจ้าหน้าที่ประจำสถานีได้เลย ไม่ต้องเสียเวลา)
2. หลังจากนั้นให้ตรงไปที่หมายเลขชานชาลาตามที่แสดงไว้บนบอร์ดอิเล็คทรอนิคส์ก่อนที่จะเดินเข้ามา
3. เมื่อหาชานชาลาเจอแล้ว ให้สอดตั๋วรถไฟชินคันเซ็นที่ได้มาที่ประตูทางเข้าหรือโชว์บัตรเบ่ง JR Rail Passของเราให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีดู
4. เข้าสู่ชานชาลา (ดูภาพประกอบ) สังเกตว่าจะมีอยู่ 2 ฝั่ง และมีบอร์ดอิเล็กทรอนิคส์อยู่ ตรวจสอบดูที่ตั๋วก่อนว่าขบวนที่เราจะขึ้นชื่ออะไร แล้วดูจากบอร์ดว่าขบวนรถต้องขึ้นทางฝั่งไหน ข้อมูลในบอร์ดจะมีทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ เลือกขึ้นให้ถูกฝั่งไม่งั้นไปลงผิดที่แน่นอน
5. จากนั้นให้ไปรอที่บริเวณตู้รถไฟของขบวนที่เราจะขึ้น ซึ่งจะมีเขียนบอกไว้ที่พื้นชานชาลาหรือที่บอร์ดอิเล็กทรอนิคส์เหนือศีรษะและยังมีข้อมูลของรถไฟชินคันเซ็นขบวนที่กำลังเข้าเทียบท่าและเวลาปรากฎให้ทราบอีกด้วย
6. เมื่อรถไฟชินคันเซ็นขบวนที่เราจะเดินทางเข้าเทียบท่าแล้ว ให้ผู้โดยสารที่กำลังลงจากรถไฟลงก่อนแล้วค่อยเข้าไป จากนั้นมองหาที่นั่งให้เรียบร้อย ดังนั้น ถ้ามาขึ้นรถไฟตรงตามตู้ที่กำหนดไว้บนหน้าตั๋วก็จะไม่เสียเวลาในการหาที่นั่ง ในขั้นตอนการจอดรอผู้โดยสารส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 3-5 นาทีเท่านั้น ถ้าต้องเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นกรุณาไปให้ถึงสถานีก่อนเวลาออกเดินทางอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะบางสถานีกว่าจะไปถึงชานชาลาขึ้นรถไฟชินคันเซ็นค่อนข้างใช้เวลานานเพราะพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวางและซับซ้อนมาก
7. เมื่อหาที่นั่งของคุณเจอแล้ว ให้สังเกตเบาะพนักผิงข้างหน้า จะแสดงตำแหน่งที่สำคัญบนรถไฟชินคันเซ็นโดยเฉพาะตำแหน่งของห้องน้ำ พื้นที่สูบบุหรี่ (เนื่องจากทุกที่นั่งบนรถไฟชินคันเซ็นเป็นที่นั่งปลอดบุหรี่) และพื้นที่บริการโทรศัพท์สาธารณะ
8. ภายในรถไฟชินคันเซ็น จะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม (คล้ายกับแอร์โฮสเตสบนเครื่องบิน) สามารถชำระเงินเป็นเงินสดหรือบัตรเครดิตได้ หรือจะซื้อเป็นอาหารปิ่นโตขึ้นไปทานบนรถไฟชินคันเซ็นก็ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการใช้โน้ตบุ๊คหรือต้องการชาร์จแบต กล้องถ่ายรูปหรือมือถือก็สามารถเสียบปลั๊กที่อยู่ด้านข้างริมหน้าต่างได้เช่นกัน
9. เมื่อเดินทางถึงปลายทาง กรุณาสำรวจสัมภาระต่าง ๆ ที่นำขึ้นรถไฟชินคันเซ็นให้เรียบร้อยก่อนลงจากขบวนรถไฟ

มารยาทในการใช้รถไฟชินคันเซ็น
1. อย่าวางสัมภาระขวางทางเดินเข้าออก
2. หากต้องการคุยโทรศัพท์หรือพูดคุยกันระหว่างการเดินทาง กรุณาพูดเสียงเบาเพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น
3. ปรับเบาะที่นั่งให้อยู่ในสภาพเดิมทุกครั้งเมื่อลงจากรถไฟชินคันเซ็นและไม่ปรับเบาะที่นั่งโดยเกรงใจผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลัง
4. ปรับโหมดโทรศัพท์ให้เป็นเสี่ยงสั่นหรือปิดโทรศัพท์ กรณีที่จำเป็นต้องรับโทรศัพท์ให้ลุกออกจากเบาะที่นั่งและคุยโทรศัพท์บริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้
5. กรุณาเข้าแถวให้เป็นระเบียบเมื่อลงจากรถไฟชินคันเซ็น